สารจากประธานกรรมการ
บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน)
ในนามของคณะกรรมการบริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) ขอเรียนให้ท่านผู้ถือหุ้นทราบว่า ในปี 2566 บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายทุกประการ ทั้งในเรื่องผลประกอบการ การเติบโตของธุรกิจ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผลประกอบการปี 2566 บริษัท มีรายได้ 2,346.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีรายได้ 2,239.17 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% มีกำไรสุทธิ 183.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 9%
คณะกรรมการบริษัท มีการประชุมรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ได้พิจารณาการปรับผังโครงสร้างองค์กร เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทมีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแบ่งโครงสร้างการบริหารออกเป็นสองส่วนหลักคือ ด้าน Outsource และด้าน Technology และปรับปรุงผู้มีอำนาจการอนุมัติของบริษัทให้สอดคล้องกัน รวมทั้งให้มีการพัฒนาผู้บริหารตาม Succession Plan อย่างต่อเนื่อง และโดยที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านการจัดหาบุคลากร จึงต้องมีความรู้ และต้องติดตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารบุคลากรในระดับสากลตลอดเวลา บริษัทได้จัดอบรมให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหารในเรื่อง “การบริหารจัดการ HR ยุคใหม่” People Transformation ซึ่งมีความท้าทายเพิ่มขึ้นหลายประการสำหรับผู้บริหารธุรกิจในปัจจุบัน
ปี 2566 เป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ตั้งแต่ความขัดแย้งในหลายภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ โครงสร้างประชากร และความไม่สอดคล้องกันของทักษะแรงงานกับความต้องการของตลาดส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กร และการใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนกระบวนการบางส่วน จากข้อมูลภายในของบริษัท ลูกค้าหลายรายเริ่มเปลี่ยนจากการจ้างบริการเป็นการหาพาร์ทเนอร์ที่ร่วมออกแบบกระบวนการ ใช้เอาท์ซอร์สเป็นเสมือนหน่วยงานภายในที่ช่วยลดภาระองค์กรด้านกำลังคนและบริหารความเสี่ยง
โดยที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ไปร่วมงาน World Economic Forum สรุปทิศทางในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทว่า อนาคตจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี AI การบริหารจัดการองค์กรสู่ความยั่งยืน และแนวโน้มการใช้ เอาท์ซอร์สที่เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าใน 2 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานในโลกจะหายไป 1 ใน 3 จากการถูก AI ทดแทน ซึ่งหมายถึงราว 85 ล้านตำแหน่ง ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องคนว่างงานจำนวนมหาศาล ขาดรายได้ เกิดปัญหาสังคม และปัญหาเศรษฐกิจตามมาอีกมากมาย
บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยน หรือ Transform ยกระดับตัวเองในทุกมิติ เพื่อให้สามารถดึงศักยภาพทรัพยากรด้านบุคลากรที่มีอยู่แล้ว มาผสมผสานกับเทคโนโลยีระดับโลกใหม่ๆ ใช้กระบวนการ LEAN Management สร้างเป็นโซลูชั่น Tech – Enabled Outsourcing Solution เพื่อพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพแบบครบวงจร ให้ลูกค้าได้รับคุณค่าของงานบริการเอาท์ซอร์สอย่างเต็มที่ ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด ด้วยคอนเซปท์ UNLOCK POSSIBILITIES, SO HERE WE ARE และให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่า บริษัทเป็น Strategic Partner อย่างแท้จริง
นอกจากนั้น บริษัทยังหาช่องทางรุกตลาดใหม่ๆเพื่อสร้าง New S-Curve ในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเเฉพาะในกลุ่ม EEC รวมถึงอุตสาหกรรมของต่างชาติ ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในประเทศ มองหาการบริการใหม่ๆในกลุ่ม Security ทั้งในส่วนของ Security Guard และ Cyber Security การนำเทคโนโลยี IoT, Automation AI เข้ามาทดแทนการใช้กำลังคน หรือตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มเริ่มลดลง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทในการขยายฐานธุรกิจ โดยคาดหวังการเติบโตของบริษัทด้วยตัวเลข Double-Digit ในปี 2567 ต่อไป
ในด้าน การควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติปรับปรุงนโยบายการบริหารความเสี่ยง ให้มีการตรวจสอบติดตามการวางแผนงานและการปฏิบัติงานที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงมีความเพียงพอและเหมาะสมกับบริษัท โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน ที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการตรวจสอบจะพิจารณาให้ความเห็นตามลำดับ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริษัท ในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทได้ดำเนินการตามนโยบายอย่างครบถ้วน ไม่มีกรณีทุจริต ผิดกฎหมาย และข้อร้องเรียนใดๆ นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับการประเมิน 5 ตราสัญลักษณ์ ในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ของ IOD ประจำปี 2566 เป็นปีแรก
คณะกรรมการบริษัท อนุมัตินโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย ปัจจัยด้านการความยั่งยืนหรือ ESG จะผนวกเข้าไปในแผนกลยุทธ์และแผนธุรกิจของบริษัท นอกจากนั้น บริษัทยังมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานในด้านดังกล่าว ทั้งการมอบหมายผู้บริหารระดับสูงรับผิดชอบงานทั้งหมด การพัฒนาศักยภาพของบริษัท การพัฒนาบุคลากร การเข้าร่วมโครงการ Sustainable Development Program ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพของบริษัท เป็นเป้าหมายสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน ตั้งแต่ ลูกค้าได้รับคุณค่าสูงขึ้นจากบริการเอาท์ซอร์ส การใช้เทคโนโลยี และการออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดความสูญเสียในองค์กรหรือพนักงานเอาท์ซอร์สมีโอกาสสร้างรายได้สูงขึ้น จากการส่งมอบงานที่มีคุณค่าต่อลูกค้ามากขึ้น การพัฒนาศักยภาพของบริษัทในปี 2566 ใช้วิธีการ Repurpose องค์กร โดยเปลี่ยนจากการส่งมอบบริการเป็นการส่งมอบคุณค่าของงาน 4 ด้าน ได้แก่
- Focus on Core Function: ลูกค้าจะได้ใช้เวลาทำงานที่มีความสำคัญ และเอาท์ซอร์สงานที่สำคัญน้อยกว่าออกไป เช่น บริหารอาคาร บริหารแรงงานและจ่ายเงินเดือน งานเอกสาร การดูแลพื้นที่สีเขียว งานจัดการขยะอุตสาหกรรม งาน IT
- Ability to Scale up and down: ลูกค้ามีความยืดหยุ่นในการจ้างงานตามอุปสงค์ ณ ช่วงเวลาต่างๆ ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในช่วงไม่มีงาน
- Transfer Risk to Outsource: เอาท์ซอร์สรับผิดชอบในผลงาน รวมถึงค่าปรับ และความเสี่ยงต่างๆเช่นเดียวกับการซื้อประกัน
- Access to Innovation: ลูกค้าจะได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมสำหรับงานหลัก โดยเอาท์ซอร์สเป็นผู้พัฒนางานสนับสนุนแทน
ด้วยการเตรียมความพร้อมของบริษัทในทุกด้าน และการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยียุคใหม่ จะส่งผลให้ บริษัทเติบโตก้าวหน้าตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด และสร้างประโยชน์ให้ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างแน่นอน คณะกรรมการบริษัท ขอขอบคุณผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า สื่อมวลชน พันธมิตรธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ขอให้เชื่อมั่นว่า บริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างเต็มความสามารถ บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป